วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555

กองบิน 7

                                                                  กองบิน 7


      กองบิน 7 เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2494 ณ อ่าวจุกเสม็ด อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี 
เดิมเป็นที่ตั้งของกองบินทหารเรือ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2494 เกิดเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองเป็นเหตุให้มีการปรับปรุง กองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศ ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม โดยให้โอนกองบินทหารเรือให้กับกองทัพอากาศและให้นาวาอากาศเอก บุญชู จันทรุเบกษา หัวหน้าสรรพกำลัง สธ.กลาโหม (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) ไปรักษาราชการผู้บังคับการกองบินทหารเรือ อีกตำแหน่งหนึ่ง
      ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2494 นาวาอากาศเอก บุญชู จันทรุเบกษา ได้เดินทางไปรับหน้าที่จาก พลเรือตรี เสนาะ รักธรรม รักษาราชการกองบินทหารเรือ โดยได้กระทำพิธีรับส่งหน้าที่และการบังคับบัญชาที่หน้ากองบังคับการกองบินทหารเรือ ทำให้การเป็นกองบินทหารเรือสิ้นสุดลง
      หลังจากที่กองทัพอากาศได้รับมอบกองบินทหารเรือแล้ว ก็ได้จัดตั้งเป็น "กองบินน้อยที่ 7" เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2494 โดยมีการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อ กองบินภาค 1 กองบินรบทหารอากาศ โดยมีภารกิจขับไล่ยุทธวิธี สนับสนุนการปฏิบัติการของกองทัพเรือ ทั้งทางภาคพื้นดินและน่านน้ำฝั่งตะวันออก เพื่อป้องกันราชอาณาจักรด้านเขตแดนและฝั่งทะเล โดยบรรจุเครื่องบินแบบ บ.ฝ.8 หรือ T-6 เข้าประจำการ ต่อมาเมื่อยุบเลิกกองบินภาคและตั้งกองบินยุทธการขึ้นแทน กองบินน้อยที่ 7 จึงขึ้นตรงต่อกองบินยุทธการจนถึงปี พ.ศ.2506 กองทัพอากาศได้แก้ไขอัตราใหม่ และให้เปลี่ยนชื่อกองบินน้อยที่ 7 เป็น "กองบิน 7" แต่ยังคงภารกิจของกองบินและฝูงบินไว้เช่นเดิม จนกระทั่งปี 2510 กองบิน 7 ได้เปลี่ยนภารกิจเป็นกองบินสนับสนุนทางอากาศยุทธวิธีและได้บรรจุเครื่องบินแบบ บ.ธ.1(L-18) และแบบ ต.2(L-19) ทดแทน บ.ฝ.8

  

      ตามนโยบายปรับวางกำลังของกองทัพอากาศเพื่อความเหมาะสมทางด้านยุทธศาสตร์ในการป้องกันประเทศและการคมนาคมขนส่งเชิงพาณิชย์ในแถบภาคใต้ตอนบน จึงได้เลือกสนามบินม่วงเรียง อันเป็นสนามบินเก่าที่ทหารญี่ปุ่นสร้างขึ้นไว้ใช้งาน เมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ.2486 โดยตั้งอยู่บนทางหลวงแผ่นดินสายที่ 41 หรือสายเอเชีย ห่างจากกรุงเทพมหานครลงมาทางใต้ประมาณ 624 กิโลเมตร ณ ตำบลหัวเตยและบางส่วนของตำบลมะลวน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนถึงอำเภอพุนพินประมาณ 13 กิโลเมตร โดยใช้ชื่อว่า กองบิน 71 กองบิน 71 ได้มีการพัฒนาตามแผนพัฒนาประเทศในโครงการ 5 ปี ของทางรัฐบาลตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 เป็นต้นมา โดยมีการจัดวางสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง อาทิการจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติม การก่อสร้างทางขับ ทางวิ่ง ลานจอดเครื่องบิน จัดหาเครื่องมือสื่อสาร เครื่องช่วยเดินอากาศ ระบบประปา อาคาร ที่ทำการต่าง ๆ อาคารโรงเก็บ-โรงซ่อมอากาศยาน บ้านพักอาศัย ระบบไฟฟ้า ถนน รั้ว ฯลฯ 
      ปี พ.ศ.2523 กองกำลังทหารอากาศชุดแรกได้เดินทางเข้ามาในพื้นที่ กองบิน 71 อันประกอบไปด้วยข้าราชการและทหารกองประจำการจาก กองบิน 53 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 1 กองร้อย นำโดยเรืออากาศเอก เสถียร อัมรักเลิศ ได้เข้ามาเพื่อรักษาพื้นที่และสิ่งก่อสร้าง ต่อมาในวันที่ 5 มกราคม 2524 กองบิน 71 สัตหีบ ได้ส่งข้าราชการและทหารกองประจำการ จำนวน 1 กองร้อย นำโดยเรืออากาศเอก ทวี สุริยวงศ์ มาผลัดเปลี่ยนแทนกำลังชุดเดิม
      12 กุมภาพันธ์ 2524 กองทัพอากาศได้ตั้งกองบังคับการกองบิน 53 ส่วนล่วงหน้าขึ้นเป็นอัตราเฉพาะกิจ(เพื่อพลาง) โดยมี นาวาอากาศโท จำลอง เกษสยม เป็นผู้บังคับการกองบิน 53 ส่วนหน้า และเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2524 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ กองบิน 53 ส่วนล่วงหน้าที่ สนามบินหัวเตย โดยมี พลอากาศเอก พะเนียง กานตรัตน์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธี ต่อจากนั้นในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกันส่วนราชการต่าง ๆ ในสังกัดต่างพากันทยอยเดินทางเข้าที่ตั้งสนามบินหัวเตย เป็นลำดับ
      15 กุมภาพันธ์ 2525 กองทัพอากาศมีคำสั่งให้ กองบิน 71 เป็นกองบินในที่ตั้งปกติ ณ สนามบินหัวเตย และให้ยกเลิกกองบิน 53 ส่วนล่วงหน้า โดยให้โอนเครื่องบินโจมตี แบบ 5 (OV-10) จำนวน 11 เครื่องจากฝูงบิน 531 กองบิน 53 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาประจำการในฝูงบิน 711 กองบิน 71 ดังนั้นจึงถือเอาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น วันคล้ายวันสถาปนากองบิน 71 
      22 กุมภาพันธ์ 2525 นาวาอากาศเอก วีระพงษ์ สิงหเสนี ผู้บังคับการกองบิน 71 สัตหีบ และคณะชาวสัตหีบ นายอำเภอและพระเถระสำคัญได้อัญเชิญ ธงชัยเฉลิมพลประจำกองบิน 71 พร้อมด้วยพระพุทธนฤบดีศรีสัตหีบและพระพุทธมหาเมตตา พระพุทธรูปประจำกองบิน มายังกองบิน 71 สุราษฎร์ธานี และในวันเดียวกันได้มีพิธีรับส่งหน้าที่ ผู้บังคับการกองบิน 71 ระหว่างนาวาอากาศเอก วีระพงษ์ สิงหเสนี ผู้บังคับการกองบิน 71 สัตหีบ ไปเป็นผู้บังคับการกองบิน 53 และนาวาอากาศเอก กฤษณะ สิทธิทูล ผู้บังคับการกองบิน 53 มาเป็นผู้บังคับการกองบิน 71 สุราษฎร์ธานี ดังนั้นจึงถือว่า นาวาอากาศเอก กฤษณะ สิทธิทูล เป็นผู้บังคับการท่านแรกของกองบิน 71
      เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีกองกำลังทางอากาศอันทรงพลานุภาพ ไว้คุ้มครองป้องกันผลประโยชน์ของชาติทางทะเลและดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทย กองทัพอากาศจึงได้ปรับโครงสร้างใหม่ โดยกำหนดให้กองบิน 71 เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อ กองพลบินที่ 4 เมื่อเดือน พฤษภาคม 2533 และได้ย้ายเครื่องบินขับไล่แบบ 18 (F-5E/F) จาก ฝูงบิน 102 กองบิน 1 จังหวัดนครราชสีมา เข้าประจำการที่กองบิน 71 และได้ย้ายเครื่องบินโจมตีแบบ 5 (OV-10) ไปประจำการที่ ฝูงบิน 411 กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นาวาอากาศโท สุจินต์ แช่มช้อย เป็นผู้บังคับฝูง F5 E/F ท่านแรก เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2534
      ตามคำสั่งกองทัพอากาศ(เฉพาะ)ที่ 48/42 กองทัพอากาศได้แก้ไขอัตรากองทัพอากาศตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2542 โดยเปลี่ยนชื่อกองบิน 71 เป็น กองบิน 7 พร้อมทั้งเพิ่มอัตราฝูงบินเป็น 3 ฝูงบิน ยกระดับเป็นฐานบินปฏิบัติการหลักของกองทัพอากาศ มีเครื่องบินบรรจุประจำการ ณ ขณะนี้ได้แก่เครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์แบบที่ 18 (F-5A),เครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์แบบที่ 18 ก (F-5B),เครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์แบบที่ 18 ข (F-5E),และเครื่องบินลาดตะเวนถ่ายภาพแบบที่ 18 (RF-5A) กองบิน 7 ในปัจจุบันจึงนับเป็นกองบินที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ เพียบพร้อมด้วยศักยภาพในการที่จะคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ และป้องกันการรุกรานจากอริราชศัตรูในทุกรูปแบบ โดยในปัจจุบันมี นาวาอากาศเอก สฤษดิ์พร สุนทรกิจ เป็นผู้บังคับการกองบิน 7 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น